Sunday, September 24, 2017

โรค SLE (Systemic Lupus Erythematosus - SLE) หรือโรคลูปัส

วิธีการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรค SLE เพื่อลดการกำเริบของโรค?
โรค SLE (Systemic Lupus Erythematosus - SLE) หรือโรคลูปัส เป็นโรคชนิดเรื้อรังของกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันเพี้ยน ซึ่งเกิดจากร่างกายของผู้ป่วยมีการผลิตโปรตีนของภูมิคุ้มกันเลือด ชื่อว่า แอนติบอดี้” ขึ้นมามากผิดปกติ จนทำให้เกิดอันตรายและปัญหาทั้งทางตรงและทางอ้อม  จากปกตินั้นภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเราจะทำการต่อต้านสิ่งอันตราย เชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆ ที่เข้ามาจากทางภายนอกร่างกาย แต่หากเป็นโรค SLE  จะทำให้ทำงานผิดเพี้ยน ต่อต้านร่างกายของตนเอง จนส่งผลให้เกิดเป็นการอักเสบบริเวณอวัยวะส่วนต่างๆ ที่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นการทำลายอวัยวะภายใน ไม่ว่าจะเป็นทั้ง หัวใจ ไต ปอด รวมไปถึงระบบประสาท  ในปัจจุบันนี้ โรค SLE ยังไม่ค้นพบวิธีการรักษาให้หายขาด เป็นโรคชนิดเรื้อรังที่ผู้ป่วยโรค SLE จะต้องหมั่นดูแลสุขภาพและปฏิบัติพร้อมทั้งรักษาตัวให้ถูกต้องมากที่สุด เพื่อที่จะได้ช่วยลดการลุกลามของโรคที่สามารถกำเริบได้ทุกเวลา

วิธีการดูแลและปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรค SLE
1.ผู้ป่วยโรค SLE ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญและถูกสัมผัสกับแสงแดด ในช่วงเวลา 09.00-16.00 น. หรือในช่วงที่มีแดดร้อนจัด ซึ่งถ้าหากมีความจำเป็นจริงๆควรที่จะสวมหมวกเพื่อบังแดด กางร่ม ใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดก่อนออกจากบ้านอยู่เสมอ

2.เนื่องจากโรค SLE เป็นโรคชนิดเรื้อรังที่ใช้เวลาในการรักษายาวนาน ผู้ป่วยจะต้องฝึกตนเองให้มีระเบียบวินัยในการรับประทานยาให้ตรงเวลาตามที่แพทย์สั่ง เข้าพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยโรค SLE ไม่ควรที่ละเลยหรือหยุดทานยาโดยพลการเด็ดขาด เพราะว่าการขาดวินัยและรับประทานยาอย่างไม่สม่ำเสมอนั้นจะส่งผลให้อาการกำเริบและโรคแทรกซ้อนต่างๆที่จะเป็นผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก

3.ผู้ป่วยโรค SLE ควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้เต็มอิ่ม ไม่ควรนอนดึกหรืออดนอนจนเกินไป พยายามทำจิตใจให้ผ่องใส ลดความตึงเครียด อย่าวิตกกังวลพร้อมฝึกจิตใจให้มีสติและเข้มแข็ง เพื่อที่จะทำให้เรามีแรงสู้และสามารถยอมรับและศึกษาทำความเข้าใจในโรคนี้และนำมาซึ่งการดูแลรักตัวเองและแก้ปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี

4.ผู้ป่วยโรค SLE ควรดูแลความสะอาดอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อตามอวัยวะต่างๆ หมั่นดูแลสุขภาพฟัน ความสะอาดของร่างกาย ผิวหนัง ซอกมือซอกเล็บ เพื่อที่จะได้ลดการติดเชื้อจากพยาธิ ไวรัส และแบคทีเรียต่างๆ ในกรณีนี้ถ้าผู้ป่วยมีอาการป่วยไข้ มีฝีหรือตุ่มขึ้นตามผิวหนัง ไอมีเสมหะ ให้รีบพบแพทย์เพื่อที่จะได้ตรวจเช็คและรักษาได้อย่างทันทีท่วงที

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรค SLE จะต้องหมั่นตรวจเช็คความผิดปกติของร่างกายที่แสดงถึงการกำเริบของโรค ไม่ว่าจะเป็น ไข้สูง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายๆ มีอาการบวมตามอวัยวะต่างๆ ปวดข้อและกระดูกรวมไปถึงมีผื่นตามตัว ผู้ป่วยจะต้องรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อตรวจและรักษาได้อย่างทันท่วงที 

No comments:

Post a Comment