Sunday, August 20, 2017

MG ย่อมาจาก Myasthenia Gravis หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี

มารู้จักโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG ...กันดีกว่า ?
MG ย่อมาจาก Myasthenia Gravis หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ และสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหนังตาตก หายใจลำบาก ตาพร่ามัว พูดไม่ชัด เคี้ยวและกลืนลำบาก ยิ้มได้น้อยลง เพราะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับระบบหายใจ แต่หากเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากก็อาจทำให้กล้ามเนื้อทั้งตัว เช่น กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรงลงได้ แต่ทั้งนี้กลับพบว่าสำหรับกล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อเรียบต่าง ๆ ในร่างกายจะไม่ได้รับผลกระทบไปด้วย ปัจจุบันพบว่าการรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงทำได้เพียงเพื่อบรรเทาอาการ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมและเอาใจใส่จากคนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ

อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงทางตา
อาการที่เกิดจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าที่พบโดยทั่วไปได้แก่ หนังตาตกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง เป็นอาการแรกที่สังเกตได้ รวมถึงพบปัญหาด้านการมองเห็น เช่น เห็นภาพซ้อน หรือมองไม่ชัด ซึ่งพบว่าอาการจะดีขึ้นเมื่อหลับตาข้างใดข้างหนึ่งลง หากกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกบนใบหน้าได้รับผลกระทบ จะทำให้การแสดงออกทางสีหน้าถูกจำกัด เนื่องจากไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้ เช่น ยิ้มได้น้อยลง นอกจากนี้ยังพบว่าโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีอาการที่เกิดจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อลำคอ แขนและขา มักเกิดขึ้นที่แขนมากกว่าที่ขา และอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น เดินตัวตรงได้ยาก รวมถึงอาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณคอที่จะมีอาการอ่อนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ตั้งศีรษะหรือชันคอลำบาก

ความผิดปกติของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
อาการที่เกิดจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อรอบปากเพดานอ่อน หรือลิ้นอ่อนแรงส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติบางอย่างเกี่ยวกับการพูด การเคี้ยวและการกลืน เช่น พูดเสียงขึ้นจมูก พูดเสียงเบาแหบ กลืนลำบาก เคี้ยวไม่ได้ ไอ สำลักอาหาร และในบางกรณีอาจเป็นสาเหตุไปสู่การติดเชื้อที่ปอด  ซึ่งยังพบว่าผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจำนวนหนึ่งมีอาการหายใจลำบาก โดยเฉพาะหลังออกกำลังกายหรือขณะนอนราบอยู่บนเตียง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG
 พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้อาการโรคนี้รุนแรงขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อ เป็นไข้ ร้อนหรือเย็นเกินไป ออกแรงมากเกินไป เครียด มีประจำเดือน โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ และการทานยาบางชนิด ซึ่งจัดว่าเป็นโรคเรื้อรัง อาการดังกล่าวมาข้างต้น มักเป็น ๆ หาย ๆ และพบว่าอาการจะดีขึ้นเองหลังจากหยุดพักการใช้งาน ดังนั้นหากคุณพบว่ามีปัญหาด้านการมอง การหายใจ การพูด การเคี้ยว การกลืน รวมไปถึงการเคลื่อนไหวร่างกายที่เป็นไปโดยลำบาก เช่น การใช้มือและแขน การทรงตัว การเดิน เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาจากแพทย์อย่างถูกวิธี

No comments:

Post a Comment